หน้าเว็บ

วังโป่ง


ประวัติความเป็นมาของชุมชน "วังโป่ง"
ข้อมูลตามหลักฐานทางเอกสารจากการสำรวจทางโบราณคดีของกรมศิลปากร หน่วยภาคเหนือ ที่มีอยู่ยืนยันว่า ชุมชนบ้านวังโป่ง เดิมเป็นป่าดงพงไพรอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนอื่นๆ มากไม่มีหมู่บ้านหรือชุมชน คงมีแต่เพียงพวกที่เข้ามาล่าสัตว์ ได้เข้ามาพบเห็นพื้นที่ก่อนที่จะเป็นหมู่บ้านวังโป่ง แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน พืชพันธุ์ธัญญาหารและสัตว์ป่านานาชนิด ก่อนที่จะมาเป็นวังโป่งนั้น มีผู้เล่าสืบต่อ ๆ กันมาว่าเมื่อครั้งที่ชาวเวียงจันท์แตกทัพ นายสุดจินดา แม่ทัพได้จับเอาเชลยศึกไป มีลาว เขมร ไล่ต้อนมาพักอยู่ที่เพชรบูรณ์ ในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ตำบลนายม อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เป็นส่วนมากโดยให้หลวงโยธานิเทศน์ เป็นผู้ดูแล ต่อมาพวกเชลยไม่มีที่ทำมาหากิน หลวงโยธานิเทศนึกขึ้นมาได้ว่าเคยรู้จักกับนายพรานป่าผู้หนึ่ง ชื่อนายพรานประดิษฐ์ คนบ้านยางหัวลม ตำบลนายม ซึ่งเป็นผู้รู้จักภูมิประเทศดี จึงได้ไปสอบถามดู นายพรานก็บอกว่า เคยได้พบที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างไกลจากมณฑลเพชรบูรณ์ ต้องข้ามเขาลงไปทางทิศตะวันตก ดังนั้นหลวงโยธานิเทศ จึงเดินทางมาสำรวจดูภูมิประเทศพร้อมกับนายพรานประดิษฐ์ ด้วยตนเอง เมื่อสำรวจแล้วเห็นว่าเป็นที่ที่มีทำเลอุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะตั้งเป็นที่ทำมาหากิน จึงกลับไปชี้แจงให้กับราษฏรฟัง และสอบถามความสมัครใจว่าใครจะอพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่ และต่อมาได้ออกเดินทางจากตำบลนายม ออกเดินทางมาราว ๆ ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๓๔๔) มีราษฏรมาด้วยทั้งหมดเกือบ ๔๐ ครอบครัว โดยให้นายพรานประดิษฐ์เป็นผู้ควบคุมดูแลไป สมัยก่อนเรียกบ้านวังโป่งว่า บ้าน “วังดินโป่ง” ต่อมาได้ดัดคำว่า “ดิน” ออกคงเหลือแต่คำว่า “วังโป่ง” จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2436 เมื่อได้มีการจัดตั้งมณฑลพิษณุโลกขึ้น บ้านวังโป่งจึงได้โอนไปขึ้นกับการปกครองอยู่กับเมืองพิษณุโลก ปี พ.ศ. 2438 ขึ้นการปกครองกับอำเภอนครป่าหมาก จังหวัดพิษณุโลก(ปัจจุบันนครป่าหมากเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอวังทอง) เมื่อ พ.ศ. 2460 กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะตำบลชนแดน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ขึ้นเป็น กิ่งอำเภอชนแดน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จึงได้ตัดเขตตำบลวังโป่งซึ่งขณะนั้นขึ้นกับอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก มาขึ้นกับกิ่งอำเภอชนแดน จนกระทั่งตำบลวังโป่ง และหมู่บ้านข้างเคียงมีจำนวนประชากรมากขึ้น มีการคมนาคมสะดวกขึ้นและมีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจพอสมควร ประกอบกับระยะทางจากตัวอำเภอชนแดนมาตำบลวังโป่งค่อนข้างไกลและมีพื้นที่กว้างขวางเกินไป กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังโป่ง เมื่อปี พ.ศ.2526ซึ่งมีอาคารที่ว่าการอำเภอชั่วคราวอยู่ในตลาดวังโป่งในปี พ.ศ.2531ชุมชนบ้านวังโป่งได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยการบริหารท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลวังโป่ง และกิ่งอำเภอวังโป่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอวังโป่ง เมื่อปี พ.ศ. 2533 ปัจจุบันด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ใกล้กับเทือกเขาใหญ่น้อยเรียงรายสลับกับ ที่ราบลุ่ม อันเป็นทำเลที่เหมาะ สำหรับการตั้งถิ่นฐานและการเพาะปลูก จึงได้ดึงดูดผู้คนจากท้องถิ่นใกล้เคียงเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในชุมชนแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อาทิจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อำเภอบางมูลนากและอำเภอเมืองจังหวัดพิจิตร โดยผู้คนจากท้องถิ่นดังกล่าวยังคงรักษาวัฒนธรรมและภาษาพูดไว้เช่นเดิม

สถานที่น่าสนใจ
ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดอรัญญาวาส ต.วังโป่ง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ กิจกรรมที่ดำเนินการ ๖ ด้าน ตามโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ลานวัฒนธรรมและกีฬา ศูนย์ความรู้ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ชุมชน


ทุ่งสะวันนาแห่งผืนป่าไทย
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสภาพธรรมชาติ ทิวทัศน์ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแหล่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 789,000.00 ไร่ หรือ 1,262.40 ตารางกิโลเมตร สำหรับชื่อของอุทยานแห่งชาติเป็นชื่อของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ของ อุทยานแห่งชาติ ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นโดยอาศัยชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งในทุ่งหญ้าแห่งนี้ คือ ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลสุกสีแสด เมล็ดให้สารสตริคนิน ซึ่งเป็นสารเบื่อเมา คาดว่าในสมัยก่อนมีต้นแสลงใจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ มีป่าหลายชนิด และสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่า “ทุ่งแสลงหลวง”ให้สมกับเป็นพื้นที่ที่รวบรวมความหลากหลายของธรรมชาติไว้

ความเป็นมา:มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2503 กรมป่าไม้จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจและหมายแนวเขตป่าทุ่งแสลงหลวง เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง เนื้อที่ประมาณ 801,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนก นางแอ่น ตำบลชมภู ตำบลบ้านมุง อำเภอวังทอง ตำบลหนองกระท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดจังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าผล อำเภอเมือง ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 80 ตอนที่ 11 ลงวันที่ 29 มกราคม 2506 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3ของประเทศ ต่อมากองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ได้มีหนังสือที่ กห 0334/137 ลงวันที่ 7 มกราคม 2514 ขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงที่หมู่บ้านเข็กน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดตั้งกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนออนุกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2514 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2514 มีมติเห็นควรให้ทำการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวให้ทางราชการทหาร โดยออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เป็นพื้นที่หวงห้ามทางราชการทหารต่อไป เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงบางส่วน และกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติขึ้นใหม่ รวมเนื้อที่ประมาณ 789,000ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 89 ตอนที่ 190ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
ต่อมาอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงได้มีหนังสือที่ 49/2517 ลงวันที่17เมษายน 2517รายงานว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 กำหนดให้บริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการตรวจสอบของอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า การประกาศมิได้ระบุบางตำบลที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไว้ด้วย กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 5/2517 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2517 มีมติให้ขยายบริเวณที่ดินส่วนที่มิได้ระบุในประกาศคณะปฏิวัติให้ถูกต้อง โดยมีพระราชกฤษฎีกาให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติและกำหนดบริเวณที่ดินทุ่ง แสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนกนางแอ่น ตำบลชมภู อำเภอหล่มสัก ตำบลท่าพล อำเภอเมือง ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 92ตอนที่ 101ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 รวมพื้นที่ 789,000 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่อุทยานแห่งชาติตั้งอยู่ในเขต เทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028เมตร เนื่องจากภูเขาบริเวณนี้เป็นภูเขาหินทราย ลักษณะของภูเขาจะเป็นภูเขายอดตัดหรือมีที่ราบบริเวณยอดเขา แต่บริเวณร่องเขาจะลึก และมีความลาดชันสูง เนื่องจากหินทรายเป็นหินที่ง่ายต่อการถูกกัดเซาะ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย ลำน้ำทุ่ม คลองชมภู คลองน้ำปอย คลองวังทอง และห้วยกอก เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
ในระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,300-1,700มิลลิเมตรต่อปี โดยมีปริมาณมากที่สุดในเดือนกันยายน และในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว
พืชพรรณ และสัตว์ป่าสภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงประกอบด้วย
1.ป่าดิบเขาพบขึ้นอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเล1,000เมตรขึ้นไปชนิดไม้สำคัญที่พบเป็นไม้เด่นได้แก่ หว้าหิน ก่อหิน ก่อเดือย ก่อตาหมู หว้าดง ทะโล้ ตำแยต้น กระดูกไก่ สนสองใบ ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกมอส เฟิน เถาวัลย์ หวาย และว่านชนิดต่างๆ
2.ป่าดิบชื้นพบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800เมตรขึ้นไป และตามร่องน้ำ หรือที่ลาดเขาที่มีความชุ่มชื้นสูง ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ก่อตลับ ตาเสือ มะไฟ ดำดง ชะมวง มะกอก ยมหอม ยางโดน กระเบากลัก จำปาป่า ตะเคียนหิน อบเชย พญาไม้ ฯลฯ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยได้แก่ ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา มะพร้าวนกคุ่ม ม้ากระทืบโรง หวาย เฟิน และพืชในตระกูลขิงข่า เป็นต้น
3.ป่าดิบแล้งพบกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเล500 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ยอป่า เต็งตานี มะหาด ยางโดน ยางนา แคทราย กระบาก มะกล่ำต้น ขี้อ้าย ก่อข้าว กฤษณา ฯลฯ
4.ป่าสนเขา ขึ้นอยู่ในที่สูง700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้า มีสนสองใบ เหียง เหมือดแอ เหมือดคน ส้านใหญ่ ชะมวง ตับเต่าต้น ฯลฯ ขึ้นอยู่ พืชพื้นล่างเป็นหญ้าขน หญ้าคมบาง หญ้าคา พง บุก กระเจียว และเฟิน เป็นต้น
5.ป่าเบญจพรรณพบขึ้นอยู่ในระดับความสูง400-700เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบกเปลือกบาง กระบาก ซ้อ ปอสำโรง เก็ดดำ ตีนนก แต้ว พลับพลา ชิงชัน พะยูง โมกมัน ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ชนิดต่างๆ กลอย กระทือ ว่านมหากาฬ โด่ไม่รู้ล้ม เป็นต้น
6.ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงประมาณ 400 เมตร ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ รัง เหียง กราด พลวง เต็ง มะม่วงป่า ตับเต่าต้น ส้านใหญ่ มะเกิ้ม งิ้วป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าเพ็ก หญ้าคา หญ้าขน บุก กวาวเครือ กระเจียว ไพล เป็นต้น
7.ทุ่งหญ้า เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ ประกอบด้วยหญ้าชนิดต่างๆ มีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ในสภาพแคระแกร็นประกอบด้วย เหมือดคน ส้านใหญ่ เหียง มะขามป้อม พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าขน หญ้าคมบาง หญ้าคา พง กระเจียว กลอย บุก ก้ามกุ้ง ก้ามปู ว่านมหากาฬ ข่าป่า อบเชยเถา คราม และเป้ง เป็นต้น


สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง แตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ประกอบด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า กระทิง ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นเหนือ กวางป่า หมูป่า กระต่ายป่ากระแตธรรมดา กระรอกหลากสี กระเล็น หนูท้องขาว ค้างคาวขอบหูขาวกลาง นกเขาเปล้าธรรมดา นกแอ่นตาล นกตะขาบทุ่ง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอดเหลืองหัวจุก นกจับแมลงหัวเทา เต่าหับ ตะพาบน้ำ ตะกวด ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบ้าน จิ้งเหลนหลากหลาย งูลายสอธรรมดา งูทางมะพร้าวธรรมดา งูเขียวหัวจิ้งจก อึ่งกรายลายเลอะ เขียดอ่อง กบหนอง ปาดแคระธรรมดา เป็นต้น ในบริเวณแหล่งน้ำพบปลาที่อาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลาซิว ปลาพุง ปลาขาว ปลาเขียว ปลามุด ปลาติดหิน ปลารากกล้วย และปลากั้ง เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : dnp.go.th

วัดสันติวรญาณ หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม ( พระครูสันติวรญาณ )
ตั้งอยู่เลขที่ 10 หมู่ 6 บ้านกุดพันสะเดา ต.วังศาล อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 67240(http://suntiworrayan.com/index.htm)หลวงปู่อ่ำ)หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม หรือ พระครูสันติวรญาณ เป็นพระผู้ใหญ่ที่พุทธศาสนิกชน กราบไหว้ยกย่องนับถือในวัตรปฏิบัติและปฏิปทา รวมทั้งการเทศนาสอนธรรมกัมมัฏฐานด้วยคำเทศนาหรือบทธรรมของท่าน ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัย   ในชีวิตประจำวันหลวงปู่อ่ำ เป็นพระสายวัดป่าที่เน้นเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นด้านหลัก และเป็นศิษย์รุ่นกลางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ศึกษาธรรมธุดงควัตรหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) บูรพาจารย์สายปฏิบัติวิปัสสนาชื่อดัง วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ปัจจุบัน หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม สิริอายุ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวรญาณ ต.วังศาล อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ อัตโนประวัติและชาติภูมิ หลวงปู่อ่ำ เกิดในสกุล ลาสิม เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2471 ที่ ต.ตระการ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายมา และ นางตา ลาสิม ครอบครัวประกอบอาชีพชาวนา มีฐานะยากจน ในช่วงวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือเบื้องต้น จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดบ้านโพนเมือง และช่วยครอบครัวหาเลี้ยงด้วยการประกอบอาชีพทำนาทำไร่ ยามว่างจากการงานอาชีพ มักจะขอติดตามบิดามารดา เข้าวัดฟังธรรมเป็นประจำ ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า กระทั่งอายุ 26 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 7มกราคม 2497ณ วัดประชาพิทักษ์ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีพระครูพุทธสารสุนทร วัดประชาพิทักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาปัญญา กุสโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา ธมฺมกาโม มีความหมายว่า ผู้ปรารถนาในพระธรรม หลังอุปสมบท ท่านได้อยู่ปฏิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ระยะเวลาหนึ่ง   ต่อมาได้กราบลาขอเดินทางไปยัง จ.สกลนคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท และเอก ตามลำดับ จากสำนักเรียนวัดคามวาสี อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร ต่อมา ท่านได้ไปขอฝากตัวเป็นอันเตวาสิกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ(ศึกษาประวัติ) วัดประสิทธิธรรม ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เพื่อศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา พร้อมกับได้ออกเดินธุดงควัตร ไปตามสถานที่ต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านได้มีโอกาสศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้เดินธุดงค์ ผ่านมายังพื้นที่บริเวณบ้านเขาน้อย ต.วังทรายพูน อ.เมือง จ.พิจิตร พบว่าเป็นสถานที่สงบวิเวก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ประกอบกับญาติโยม แลเห็นถึงจริยาวัตรของท่าน จึงได้นิมนต์ขอให้อยู่จำพรรษา ก่อนทำการสร้างวัดในเวลาต่อมา ชื่อ วัดป่าเขาน้อย และอยู่จำพรรษาเป็นเวลานานหลายปี กระทั่งเมื่อเห็นว่า ชุมชนวัดป่าเขาน้อยมีความเจริญมากขึ้น มีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่หนาแน่น ท่านจึงได้มอบหมายการดูแลปกครองพระสงฆ์ ให้แก่ หลวงปู่จันทา ถาวโร ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่านอีกรูปหนึ่ง ส่วนตัวท่านได้เดินธุดงค์ไปยังป่าเขาเขียว เขตทุ่งแสลงหลวง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก อยู่จำพรรษาอยู่หลายปี ปรากฏว่า สำนักสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่สามารถจะสร้างเป็นวัดได้ ท่านจึงได้เดินทางเข้ามายัง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ญาติโยม คหบดี ชาวอ.พิจิตร ทราบว่า หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม เดินธุดงค์มายังบ้านวังชะนาง ต.วังศาล อ.วังโป่ง จึงได้พากันรวบเงินซื้อที่ดินบริเวณบ้านวังชะนางจำนวน 68 ไร่ ถวายให้หลวงปู่อ่ำ ก่อตั้งเป็นสำนักธุดงคสถาน พร้อมทั้งชักชวนญาติโยม เข้ามารักษาศีลปฏิบัติธรรม หลวงปู่อ่ำและชาวบ้าน ได้ร่วมกันก่อสร้างศาสนสถาน ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และมหาเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมา จึงได้รับการยกฐานะเป็นวัด ถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อ วัดสันติวรญาณ ตลอดเวลาที่อยู่จำพรรษา หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม จะสั่งสอนอบรมญาติโยม ให้รู้จักเจริญสติภาวนา ตามหลักการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตามแนวทางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทุกประการ ด้วยอุปนิสัยที่สงบเสงี่ยม พูดแต่น้อย และพูดอย่างระมัดระวังและมีสติกำกับ หลวงปู่จะสอนเสมอว่า จริตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีมากบ้าง น้อยบ้างต่างกัน เป็นเรื่องของสัตว์โลกที่เกิดมา ได้สร้างความดีไว้ที่ต่างกัน ทุกคนจึงต้องเป็นตามกรรมนั้นๆ จริตของคนเราที่เกิดมาในโลก มี 6ประการ คือ ราคะจริต เป็นผู้ที่รักสวยรักงาม เป็นเจ้าเรือน โทสจริต เป็นผู้มักโกรธง่าย ผูกโกรธไว้เป็นเจ้าเรือน โมหจริต เป็นผู้หลงงมงาย มืดมน วิตกจริต เป็นผู้ไม่แน่นอน ตกลงใจไม่ได้ สัทธาจริต เป็นผู้มักเชื่อง่าย ถือมงคลตื่นข่าว และพุทธิจริต เป็นผู้ใช้ปัญญาตรึกตรองมาก จริตทั้ง 6ประการ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้และหมั่นพิจารณาเนืองๆ ว่า ตนนั้นตกอยู่ในจริตข้อใด หรือจริตข้อใด เป็นเจ้าเรือน เมื่อรู้แล้ว จงกำหนดจิตของตน ให้แน่วแน่ละจริตนั้นๆ เสีย ทำบ่อยๆ จนจิตสงบ เยือกเย็น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ละกิเลส ตัณหา อุปาทานที่เกิดขึ้นได้ ในบางครั้ง หลวงปู่อ่ำ ได้รับการนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีนั่งปลุกเสกอธิษฐานจิตวัตถุมงคลหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม เป็นพระที่เคร่งครัดวินัยมาก วัตรที่ปฏิบัติ คือ นอกจากจะทำวัตรสวดมนต์ เป็นประจำแล้ว สิ่งที่ถือเป็นกิจวัตรคือ การออกบิณฑบาต โปรดญาติโยม ทุกเช้า แม้อายุจะล่วงเข้าวัยชรา สุขภาพร่างกายของท่าน ยังดูแข็งแรง เดินทางได้ระยะไกลๆ หลวงปู่จะบอกว่า ที่ท่านมีสุขภาพร่างกาย แข็งแรง เป็นเพราะท่านปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจริญสติภาวนา เป็นประจำ เมื่อจิตนิ่ง จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก หรือส่ายไปส่ายมา จนถึงขั้นเป็นเอกัคคตาจิต ความสุข ความสันติ ก็จะตามมา เป็นหลักคำสอนในการฝึกจิตของหลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม ทุกวันนี้ หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม ยังคงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ ความสามารถ และความเสียสละ บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมือง คำนึงถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ยึดมั่นที่จะสร้างสรรค์ พัฒนาสังคม ให้มีความเจริญรุ่งเรืองด้วยความรู้คู่กับคุณธรรม อีกทั้ง เป็นพระอริยสงฆ์ผู้เจริญธรรมตามรอยบูรพาจารย์ทุกประการ