หน้าเว็บ

ศรีเทพ


ความเป็นมาของอำเภอศรีเทพ
ศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่ใหญ่เมืองหนึ่ง สร้างขึ้นก่อนที่สมัยขอมมีอำนาจ เข้าใจว่าพวกอินเดียซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในแหลมอินโดจีน คงจะตั้งขึ้นก่อน และต่อมาเมื่อขอมมีอำนาจในราว พ.ศ.1400คงจะชิงเมืองนี้ และซ่อมแซมตกแต่งให้แข็งแรงมั่นคงยิ่งขึ้น แล้วขยายเขตเมืองออกไปอีก ซากเมืองและซากโบราณสถานทั้งของพวกอินเดียและพวกขอมยังปรากฏอยู่ เมืองศรีเทพนี้อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 122 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอศรีเทพไปทางทิศตะวันออก ประมาณ9กิโลเมตร การเดินทางสะดวกสามารถ นำรถยนต์ส่วนตัวหรือรถบัสเข้าถึงตัวเมืองศรีเทพเมืองศรีเทพนี้ ตั้งขึ้นประมาณ1,000ปีเศษมาแล้วในสมัยขอมมีอำนาจเดิมชื่อว่า “เมืองอภัยสาลี”เมื่อไทยได้อพยพเข้ามาอยู่ได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้ใหม่ว่า“เมืองศรีเทพ”เมืองศรีเทพมีเนื้อที่ประมาณ 2,000ไร่เศษ รอบ ๆ บริเวณเมืองมีคูดินล้อมรอบ มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศภายในเมืองมีพระปรางค์สมัยลพบุรีอยู่ 2องค์ เรียกกันว่า “ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง”ในบริเวณมีสระน้ำเป็นแห่งๆ อยู่หลายสิบแห่ง ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองมีสระน้ำอยู่ 2สระ เรียกว่า “สระแก้ว”และ“สระขวัญ” เนื้อที่ทั้ง 2สระประมาณ 10ไร่ มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ชาวเมืองได้ใช้น้ำในสระนี้บริโภคในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองชาวเมือง ศรีเทพ ต้องส่งส่วยน้ำทั้ง 2 สระนี้ เพื่อนำไปประกอบพิธีน้ำพิพัฒน์สัตยา เพราะถือว่าน้ำทั้งสองสระนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดขาดความจงรักภักดีในองค์พระมหากษัตริย์จะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา ภายในตัวเมืองศรีเทพใกล้ ๆ กับพระปรางค์ทั้งสององค์นี้มีมูลดินสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เส้นเป็นวงกลมผ่าศูนย์ได้ประมาณ 1 เส้น ชาวบ้านแถบนี้เรียกกันว่า “เขาคลัง” เข้าใจว่าคงเป็นที่เก็บ ทรัพย์สมบัติของผู้ครองเมืองศรีเทพในสมัยก่อน เมื่อสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จมาเมืองศรีเทพ โดยทางเรือสมัยก่อนนั้น ได้ตรวจดูชัยภูมิเมืองและทรงได้เล่าเรื่องเมืองศรีเทพ ไว้ในรายงานการตรวจราชการเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2447ตอนหนึ่งว่า เมืองศรีเทพนี้ตั้งอยู่ตรงที่ราบก่อนจะถึงเมืองมีโคกหินแท่งศิลาแลงทิ้งอยู่หลายแห่ง เข้าใจว่าคงเป็นเทวสถานขนาดย่อมๆ เทวรูปและคิวลึงค์ ศิลาก็จมดินอยู่กลางโคกเหล่านี้ ครั้นถึงเมืองมีสระใหญ่อยู่นอกเมืองสระหนึ่งเรียกว่า “สระแก้ว”ตัวเมืองมีกำแพงเป็นเนินดินและมีคูรอบเมืองตรงประตูเข้าเมืองมีศิลาแลงแผ่นใหญ่ ๆ กองเรียงยื่นออกมาเป็นป้อม ข้างในเมืองมีโคกอิฐบ้าง ศิลาแลงบ้างหลายแห่ง บางแห่งกองศิลาแลงซึ่งทำเป็นแท่งพังสุมกันสูงกว่าสามวาก็มี ที่กลางเมืองมีสี่เหลี่ยมอีกสระหนึ่งกว้างประมาณสักเส้นหนึ่ง ยาวสักสามเส้น ออกจากสระไปผ่านกำแพงอีกชั้นหนึ่งจึงถึงเทวสถานเป็นปรางค์ สามยอด และมีปรางค์สองพี่น้องปรางค์หนึ่ง มีสระใหญ่อยู่ใกล้บริเวณปรางค์อีกสระหนึ่ง เรียกว่า “สระปรางค์” ตามลานในบริเวณปรางค์ พบรูปพระนารายณ์ รูปยักษ์ และรูปปั้นเทพารักษ์ ทำด้วยศิลา มีหลายรูปและมีแท่งศิลาสลักลวดลายอย่างเดียวกันกับที่เมืองมาย และวัดพนมวันเมืองนครราชสีมา ทิ้งอยู่มากถ้าขุดดูเห็นจะได้เครื่องศิลาโบราณที่นี้มีเหลืออยู่อีกมาก ฐานทักษิณปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงปนศิลาทราย แต่ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐสนิทสนมฝีมือดูดีเหมือนยังทำค้างอยู่ด้วยมีรอยถือปูนแล้วยังมิได้ถือปูนบ้างพิเคราะห์ดูเครื่องศิลาที่เครื่องศิลาที่ปรางค์เป็นอย่างเดียวกันกับที่วัดชั้นและที่เมืองพิมาย เก่าแก่กว่าอิฐที่ก่อปรางค์ ทั้งน้ำหนักดูก็เหลือกำลังที่ปรางค์อิฐจะทานเครื่องศิลาเหล่านั้นได้ จึงเป็นเหตุให้คิดว่าเมืองศรีเทพนี้เห็นจะสร้างเป็น 2ยุค คือเป็นเมืองขอมสร้างรุ่นเดียวกับเมืองพิมายยุคหนึ่งและหักพังทรุดโทรมไป มีใครมาสร้างขึ้นอีกยุคหนึ่ง แต่ทำค้างหาความสำเร็จไม่ สันนิษฐานและลวดลายปรางค์อิฐที่ทำขึ้นใหม่ เหมือนกับปรางค์วัดศรีสวายเมืองสุโขทัย และเทวสถานที่เมืองลพบุรี ถ้าจะสันนิษฐานลงไปว่าสร้างเมื่อใด ในชั้นหลังคาเป็นของไทยสร้างเมื่อตอนก่อนหรือตอนต้นตั้งราชวงศ์พระร่วง สมัยผู้ครองเมืองสุโขทัย เมืองลพบุรี และเมืองศรีเทพ ทำนองจะเป็นเจ้าด้วยกันศิลาจารึก พบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้เป็นของแปลกมาก สันนิษฐานคล้ายตะปูหัวเห็ดข้างปลายที่เสี้ยมแหลมสำหรับฝังดิน ขัดเกลี้ยง แต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั่นเป็นอักษร “คฤษ”ขึ้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียหายมาก ได้เอาศิลานี้ลงมาจากกรุงเทพฯที่อ่านดูเป็นภาษาสันสกฤตมีคำว่า “ขลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้คือหลักเมืองศรีเทพแบบโบราณเขาทำเป็นรูปตะปูตอกลงไว้ในแผ่นดิน ประสงค์ว่า จะให้มั่นคง โบราณวัตถุที่พบที่เมือศรีเทพส่วนมากเป็นของในศาสนาพราหมณ์ไม่พบของที่เป็นศาสนาพุทธเลย เมืองศรีเทพจึงเป็นเทวสถานทางศาสนาพราหมณ์

นอกจากนั้นเมืองศรีเทพ ยังมีถนนสายหนึ่งตัดตรงจากเมืองศรีเทพไปสู่เมือง “เร็ง”ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอวิเชียรบุรี มีความยาวประมาณ 38 กิโลเมตร มีตำนานการสร้างถนนสายนี้ว่า เจ้าเมืองศรีเทพกับเจ้าเมืองเร็ง จะทำพิธีแต่งงานบุตรเจ้าเมืองศรีเทพ กับธิดาเจ้าเมืองเร็งโดยสัญญากันว่า เจ้าเมืองศรีเทพจะต้องสร้างถนนจากเมืองศรีเทพ ไปยังเมืองเร็งให้เสร็จภายในหนึ่งคืนก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อแสดงความสามารถ ทางเมืองศรีเทพได้พยายามสร้างถนนอย่างเร่งรีบจนใกล้จะเสร็จ เนื่องจากเมืองเร็งจุดโคมไฟไว้คอยต้อนรับ จึงเกิดสำคัญผิดคิดว่าดวงอาทิตย์ขึ้นจึงหยุดการทำถนนไว้ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ส่วนเจ้าเมืองเร็งจะยกธิดา ให้บุตรเจ้าเมืองศรีเทพหรือไม่นั้นตำนานไม่ได้กล่าวถึงตอนนี้ไว้เลย เมืองศรีเทพคงจะรุ่งเรืองมาช่วงระยะหนึ่งแล้วจึงกลายเป็นเมืองร้างไป เหตุที่เมืองศรีเทพร้างไปเพราะเหตุใดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด มีตำนานเล่าถึงความพินาศของเมืองศรีเทพต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยเมืองศรีเทพยังเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น เจ้าเมืองศรีเทพเป็นเพื่อนรักเพื่อนเกลอกับฤาษีผู้เฝ้าบ่อน้ำร้อนใกล้เมือง อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าเมืองศรีเทพได้ไปหาฤๅษีที่บ่อน้ำร้อนและปรารภว่า อยากจะมีอายุยืนนานเพื่อจะได้บูรณะเมืองศรีเทพ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ฤๅษีจึงบอกให้เจ้าเมืองศรีเทพกระโดดลงไปในบ่อน้ำร้อนแล้วตนจะเอายาโรยให้ฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาแล้วจะอายุยืน เจ้าเมืองศรีเทพเห็นน้ำร้อนเดือดก็มีความกลัว ไม่กล้ากระโดดลงไป จึงขอให้ฤๅษีผู้เฝ้าบ่อน้ำร้อนกระโดดลงไปก่อน แล้วจะเอายาโรยให้ เมื่อฤๅษีกระโดดลงไปในบ่อน้ำร้อนอันเดือดพล่านได้ทำให้ ร่างของฤๅษีละลายไปทันทีที่เจ้าเมืองศรีเทพเห็นเช่นนั้นก็ตกใจเป็นอันมาก รีบกลับเข้าเมืองทันที่โดยมิได้นำยาไปโรยให้ฤๅษีฟื้นคืนชีพขึ้นมา อยู่มาอีก 3ปี ฤๅษีองค์ใหญ่ซึ่งอยู่เขาไกรลาศเป็นผู้ควบคุมฤๅษีองค์อื่น ๆเห็นฤๅษีที่รักษาบ่อน้ำร้อนหายไป จึงมาดูเห็นน้ำในบ่อน้ำร้อนเดือดพล่านอยู่ก็รู้ว่าฤาษีตายในบ่อน้ำร้อน จึงโรยยาลงไป ฤๅษีที่เฝ้าบ่อก็ฟื้นคืนชีวิต และมีความโกรธแค้นเจ้าเมืองศรีเทพเป็นอันมากได้แปลงตัวเป็นลูกโควิ่งอ้อมเมือง 3รอบ แล้ววิ่งเข้าไปตายในเมืองในใจกลางเมืองศรีเทพเมื่อชาวเมืองและเจ้าเมืองศรีเทพชำแหละเนื้อโคกิน ก็มีอาการท้องร่วงล้มตายกันมากมายพวกที่เหลืออยู่อพยพออกจากเมืองเอาสมบัติไปซ่อนที่เขาถมอรัตน์ เมืองศรีเทพจึงล้างลงเพราะเหตุนี้ จากตำนานอันนี้ ชวนให้เข้าใจว่า เมืองศรีเทพอาจจะร้างเพราะเกิดอหิวาตกโรคแบบเมืองอู่ทอง ชาวเมืองจึงได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น จนมีอันต้องร้างไปก็ได้ ในปัจจุบันประชาชนที่สืบเชื้อสายมาจากคนเมืองศรีเทพในสมัยดั้งเดิมคงมีอยู่ แต่ได้อพยพไปอยู่ที่บริเวณบ้านนาตระกรุดและบ้านศรีเทพน้อย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองศรีเทพประมาณ 5กิโลเมตร ส่วนประชาชนในหมู่บ้านอื่นๆเป็นราษฎรที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่จากบริเวณจังหวัดใกล้เคียงทั้งสิ้น

อำเภอศรีเทพเดิมเป็นท้องที่ขึ้นอยู่กับอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาได้แยกจากอำเภอวิเชียรบุรี มาตั้งเป็นกิ่งอำเภอศรีเทพเมื่อวันที่13 ธันวาคม 2513และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 8สิงหาคม 2519

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจศึกษาหาความรู้มากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้รับรางวัล Thailand Tourism Award ประจำปี 2543 2รางวัลคือ รางวัลประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยมและรางวัลสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านอินเตอร์เนตดีเด่น อุทยานมีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า"เมืองอภัยสาลี"สร้างขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจ มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000ปี เมืองโบราณศรีเทพมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889ไร่ แบ่งออกเป็น 2ส่วน คือ เมืองส่วนใน มีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ1.5กิโลเมตร มีช่องทางเข้าออก 8ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำ หนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป พบซากโบราณสถานกว่า70แห่ง บางแห่งได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้ว และ เมืองส่วนนอก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน ขนาดเป็น 2เท่าของเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก 7ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และพบโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกัน

โบราณสถานและสถานที่สำคัญในอุทยานฯ

ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ อยู่ห่างจากประตูทางเข้าเล็กน้อย ศาลเจ้าพ่อศรีเทพเป็นศาลที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3

ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ โดยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่16-17เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และมีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับบนกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น

ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยสันนิษฐานจากการค้นพบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย ระหว่างปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพมีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย
โบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างมีลักษณะคล้ายเมืองทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ นครปฐม และเมืองโบราณคูบัว มีการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติจึงเรียกว่า "เขาคลัง"นอกจากโบราณสถานดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีโบราณสถานย่อยๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทิศใต้ของเขาคลังในพบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง มีการพบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา แสดงให้เห็นว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ นอกจากนี้ยังพบสระน้ำโบราณ เรียกว่าสระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ และยังมี สระขวัญ อยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก ทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีการนำไปประกอบพิธีถือว่าพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน

เขาคลังนอก   ในปีงบประมาณ พ.ศ.2551 กรมศิลปากร โดยอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานเขาคลังนอก ซึ่งเป็นการดำเนินงานศึกษาด้านวิชาการโบราณคดีทั้งหมด รวมไปถึงการออกแบบเพื่อการบูรณะในปีถัดไป
ปัจจุบันโบราณสถานเขาคลังนอก มีที่ตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปราว 2กิโลเมตร ที่มาของชื่อเขาคลังนอก เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่เดิม เพราะเหตุว่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายภูเขาสูงใหญ่และเชื่อกันว่ามีทรัพย์สมบัติและอาวุธเก็บรักษาอยู่ภายใน ประกอบกับในเขตเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายภูเขาที่เรียกว่า “เขาคลังใน”จึงได้เรียกโบราณแห่งนี้ว่า “เขาคลังนอก”

สภาพก่อนการดำเนินงานทางโบราณคดีนั้น พบว่ามีลักษณะเป็นเนินคล้ายภูเขาขนาดใหญ่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ มีเศษอิฐและศิลาแลงกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งบริเวณ บริเวณด้านบนเนินปรากฏหลุมลักลอบขุดขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นโพรงลึกลงไป ทำให้เห็นโครงสร้างภายในที่ก่อด้วยอิฐอย่างชัดเจน จากการดำเนินงานทางโบราณคดี พบว่าผังของอาคารมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีการยกเก็จหรือเพิ่มมุมตามระเบียบแบบแผนของอาคารแบบทวารวดี ฐานมีขนาดเฉลี่ย กว้างด้านละประมาณ 64เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร โดยใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2ชั้นหลักๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5เมตร มีการประดับตกแต่งฐานอาคารโดยการก่อเป็นซุ้มคล้ายอาคารจำลองหลายขนาดที่มีเสาประดับ วางซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปโดยรอบ แต่ไม่พบร่องรอยของการฉาบปูนและปูนปั้นประดับเหมือนที่โบราณสถานเขาคลังใน และพบชิ้นส่วนยอดของสถูปขนาดเล็กที่ใช้ประดับอาคาร มีบันไดทางขึ้นสู่ด้านบนทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีซุ้มประตูตั้งอยู่ด้านบน เพื่อผ่านเข้าไปยังลานประทักษิณเพื่อประกอบศาสนพิธีที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว บนฐานเขียงด้านทิศตะวันออกของสถูปก่ออิฐด้านบน ยังปรากฏร่องรอยของหลุมเสาไม้ แต่ไม่พบร่องรอยของกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการก่อศิลาแลงทับซ้อนอยู่บนชั้นพังทลาย แสดงถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีด้านบนในสมัยหลังอีกด้วย องค์สถูปด้านบนก่อด้วยอิฐแบบทวารวดี ลักษณะสถูปประกอบด้วยฐานเขียงที่ซ้อนกันตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง เหนือขึ้นไปพบว่ามีร่องรอยการก่อลดชั้นและยกเก็จที่มุม ซึ่งอาจมีองค์สถูปทรงกลมตั้งอยู่ด้านบน แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว
ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ แห่งภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่า เขาคลังนอกมีลักษณะเป็นมหาสถูป ตั้งอยู่นอกตัวเมืองโบราณ อาจรับคติการสร้างจากพุทธศาสนามหายาน ที่นิยมสร้างอาคารบนฐานสูง รูปแบบผังมณฑลจักรวาล และมีความสัมพันธ์กับเขาถมอรัตน์ ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะเกือบ20กิโลเมตร โดยมีภาพสลักเกี่ยวกับพุทธศาสนามหายานอยู่ภายในถ้ำบนยอดเขา และน่าจะมีอายุร่วมสมัยกัน จุดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้ อยู่ที่ฐานอาคาร ซึ่งยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และมีรูปแบบศิลปะอินเดียผสมผสานอยู่มาก กล่าวได้ว่าในประเทศไทยยังไม่เคยพบโบราณสถานที่ร่วมสมัยกัน ที่ยังคงสภาพและมีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน แสดงคุณค่าทางรูปแบบศิลปกรรมอย่างชัดเจน โบราณวัตถุสำคัญที่พบ ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี สลักจากหินทรายสีเขียว มีลักษณะประทับยืนปางแสดงธรรม (วิตรรกะ)2พระหัตถ์ ขนาดสูง 57ซ.ม.กว้าง16ซ.ม.กล่าวโดยสรุปว่าโบราณสถานเขาคลังนอกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นสถูปที่ตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ มีการใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีอยู่ด้านบน มีรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างชัดเจน อายุสมัยน่าจะอยู่ในช่วงราว 1,200–1,300 ปี มาแล้ว หรือในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับชุมชนที่เจริญขึ้นที่เมืองโบราณศรีเทพ และเขาถมอรัตน์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน โบราณสถานแห่งนี้ กรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 80 ตอนที่ 29 วันที่ 26 มีนาคม 2506 หน้า 859 โดยขึ้นทะเบียนดังนี้ “คลังนอกเมืองศรีเทพ บ้านหนองปรือ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งเขตที่ดิน รวมเนื้อที่ประมาณ 14ไร่ 1งาน”ทั้งนี้ได้ขึ้นทะเบียนพร้อมๆกับตัวเมืองศรีเทพและปรางค์นอก (ปรางค์ฤาษี)
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00–16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการติดต่อวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพจังหวัดเพชรบูรณ์ 0-5679-1787

การเดินทาง เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211ไปอีกประมาณ 9กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ
ข้อมูลเพิ่มเติม:http://www.muangthai.com/thaidata

พื้นที่การปกครองของอำเภอศรีเทพ แบ่งตามตำบล ดังนี้

นาสนุ่น:  
http://www.sithep.com/hispage/t5_nasanun.php
ประดู่งาม:  http://www.sithep.com/hispage/t6_padoongam.php
คลองกระจัง: http://www.sithep.com/hispage/t1_corngkajung.php
หนองย่าง :
http://www.sithep.com/hispage/t2_norngyangtoy.php
โคกสะอาด: http://www.sithep.com/hispage/t3_cocksa.php
สระกรวด: http://www.sithep.com/hispage/t4_sakaud.php
ศรีเทพ : http://www.sithep.com/hispage/t7_sithep.php

สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

บ่อน้ำพุร้อนวังขาม  ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านวังขาม ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อุณหภูมิความร้อนอยู่ที่ประมาณ 60องศาเซลเซียส ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสระกรวด ประมาณ 6 กิโลเมตร


แหล่งน้ำมันดิบนาสนุ่น เป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์และบางส่วนของจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดลพบุรี ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมเมื่อปี 2527และได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบในพื้นที่อำเภอศรีเทพ และอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ในปริมาณที่คุ้มทุน สามารถเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 2538 ด้วยอัตราวันละ 200 บาร์เรล ต่อมาในปี 2546 บริษัท แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย)จำกัด ได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนิน การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริเวณแหล่งวิเชียรบุรีและศรีเทพ สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 400 บาร์เรลต่อวัน
ในเดือนกรกฎาคม2546บริษัทแพน โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย)จำกัดได้รับสัมปทานปิโตรเลียม 2 แปลงสำรวจคือแปลง L44/43และ L33/43 และได้สำรวจพบน้ำมันดิบที่แหล่งนาสนุ่นตะวันออก ปี 2550ได้รับอนุมัติเป็นพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 21มกราคม2551เป็นจำนวน27ตารางกิโลเมตร ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3มิติที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการแปลความหมายทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากสภาพธรณีวิทยาบริเวณแหล่งน้ำมันดิบนาสนุ่นเป็นหินอัคนีแทรกซ้อนอยู่ระหว่าง ชั้นหินตะกอน ซึ่งชั้นหินอัคนีแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นแหล่งกักเก็บน้ำมันที่สำคัญ พื้นที่แหล่งนาสนุ่นตะวันออกส่วนใหญ่เป็นหินภูเขาไฟ ที่มีความหนากว่า100เมตร แผ่กระจายไปทั่วบริเวณ ทำให้การสำรวจและขุดเจาะมี ความยากกว่าแหล่งอื่นๆ ในประเทศซึ่งส่วนใหญ่จะพบน้ำมันดิบอยู่ในชั้นหินทราย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2551แหล่งน้ำมันดิบนาสนุ่นตะวันออก มีอัตราการผลิตสูงถึง วันละ10,000บาร์เรล และปัจจุบันมีอัตราการผลิตประมาณ 11,530บาร์เรล (เดือนพฤศจิกายน 2551)โดยมาจากหลุมผลิตหลักๆ จำนวน 11 หลุม

สำหรับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมของแหล่งเพชรบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วย แหล่งวิเชียรบุรี ศรีเทพ นาสนุ่น และนาสนุ่นตะวันออก ตั้งแต่ปี 2538– พฤศจิกายน 2551 เป็นจำนวนประมาณ 4 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า9,200ล้านบาท ได้จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ผลิตคือองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโรง นาสนุ่น บ่อรัง และศรีเทพ คิดเป็นเงินรวม ประมาณ 108.4ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2542ได้จัดสรรเงินค่าภาคหลวง ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเงินรวมประมาณ 108.2ล้านบาท ซึ่งจากการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งนาสนุ่นเพิ่มเติม ก็ส่งผลให้ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น และจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

ค้นหาเรื่องราวของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จากเว็บนี้ค่ะhttp://moohin.com/trips/phetchabun/srithep/